เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดพิธีเปิดฟาร์มเพาะปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยและพัฒนาแห่งแรกของจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดฟาร์มเพาะปลูกกัญชาฯ โดยเป็นโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลเสมา และได้รับความร่วมมือกับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี ม.ราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ดำเนินการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชกัญชาสำหรับการศึกษาวิจัย โดยความร่วมมือกับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้นำชุมชน และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลเสมา จนโครงการได้รับสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนต่าง ๆ สำหรับดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนและความพร้อมอื่น ๆ เพื่อประกอบการขออนุญาตปลูกและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ให้ปลูกและมีไว้ครอบครองพืชกัญชาสำหรับดำเนินโครงการวิจัยแล้วนั้น จากนั้นโครงการได้ขอรับอนุญาตและใช้ประโยชน์ของกลางและเมล็ดพันธุ์จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จนบัดนี้กระบวนการเพาะปลูกและศึกษาวิจัยได้เริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบและเป็นไปโดยเรียบร้อย โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับผลิตสารสกัดกัญชาสายพันธุ์ไทย (cannabis sativa L.) อันได้แก่ การสกัด การแยกสารให้บริสุทธิ์ การวิเคราะห์ชนิดและปริมาณสารสำคัญ รวมถึงการวิเคราะห์ชนิดและปริมาณสารปนเปื้อน
2. เพื่อศึกษาอิทธิพลปัจจัยการผลิตต่อปริมาณสารสำคัญและสารปนเปื้อนที่พบในสารสกัดกัญชา อันได้แก่ รูปแบบการเพาะปลูก (ระบบปิด และโรงเรือน) อายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต รูปแบบการเก็บรักษาผลผลิต รูปแบบการเตรียมตัวอย่างผลผลิตก่อนสกัด
เมื่อผลการดำเนินงานแล้วเสร็จจะได้องค์ความรู้ใหม่ที่สามารถประยุกต์ ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชาที่เหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์ เกิดองค์ความรู้วิธีการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ที่ดี สอดรับกับบริบทภูมิอากาศและภูมิประเทศของจังหวัดนครราชสีมา พร้อมต่อการส่งเสริมและบริการวิชาการแก่ชุมชน รวมถึงเกิดองค์ความรู้ที่พร้อมสำหรับการพัฒนาต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชาไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเภสัช การกุศล การส่งออก การพาณิชย์และอื่น ๆ ขึ้นภายในชุมชน อันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้และความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากต่อไป